ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

Last updated: 21 Jul 2019  | 

ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

Mindful Way of Life
 

        อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และผู้นำสำคัญของกลุ่มแนวคิดทางจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยม หรือ Humanistic psychology ซึ่งเริ่มถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 (หรือช่วงทศวรรษที่ 1950) จิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมเชื่อในความดีงามของมนุษย์ ศักยภาพในการพัฒนาตนเอง และความเป็นไปได้ในการบรรลุศักยภาพสูงสุด

        กลุ่มแนวคิดจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมที่เชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะเป็นได้ตามใจตน (free will) เกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกใหม่เพิ่มเติมจากแนวคิดจิตวิทยาที่โดดเด่นในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ แนวคิดจิตวิเคราะห์ และแนวคิดพฤติกรรมนิยม กลุ่มแนวคิดมนุษย์นิยมมองว่า ทั้งแนวคิดจิตวิเคราะห์และพฤติกรรมนิยมออกจะมองมนุษย์ในแง่ร้ายเกินไป

        โดยแนวคิดจิตวิเคราะห์มุ่งหาแรงจูงใจจากจิตไร้สำนึกที่กำหนดพฤติกรรม ซึ่งมนุษย์ควบคุมไม่ได้ ถูกกำหนดมาแล้ว (determinism) ส่วนแนวคิดพฤติกรรมนิยมมุ่งศึกษากระบวนการวางเงื่อนไขภายนอก (สิ่งเร้า) ที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม (เช่น ใช้รางวัลหรือบทลงโทษเป็นสิ่งเร้าที่กำหนดพฤติกรรม) ทำให้มองว่าแนวคิดหนึ่งมุ่งไปที่อารมณ์สะเทือนใจ ส่วนอีกแนวหนึ่งก็ละเลยบทบาทของการเลือกที่เป็นอิสระของแต่ละบุคคล

        มาสโลว์อธิบายแรงจูงใจของมนุษย์โดยใช้ลำดับขั้นความต้องการที่มีลักษณะเป็นรูปปีระมิด (Maslow's Hierarchy of Needs)

 

 


        ส่วนล่างสุดของปีระมิดเป็นความต้องการพื้นฐานทางกายภาพของมนุษย์ เช่น น้ำ อาหาร อากาศ การนอนหลับ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

        ถัดขึ้นมาหนึ่งขั้นเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งในยามปกติและยามที่มีความเปราะบางทางสังคมและการเมือง (safety and security)

        ความต้องการลำดับที่สามคือความต้องการมิตรภาพและความรัก (love and belonging) ซึ่งเกี่ยวกับการได้รับการยอมรับ การมีเพื่อน มีครอบครัว มีสังคม มีที่ยืนในโลก

        ความต้องการลำดับที่สี่คือการเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) การเคารพตนเอง (self-respect) และความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับตนเอง

        แรงจูงใจลำดับสูงสุดคือความต้องการเติบโตเต็มศักยภาพ หรือการเข้าถึงความหมายของชีวิต (self-actualization) ซึ่งมาสโลว์อธิบายว่า เป็นความต้องการที่จะ “เป็นทุกอย่างที่บุคคลมีความสามารถจะเป็นได้”

        โดยปกติความต้องการทางกายภาพที่อยู่ลำดับล่างสุด จะต้องได้รับการตอบสนองก่อนที่มนุษย์จะมีความต้องการลำดับที่สูงขึ้นไป เช่น บุคคลที่ขาดอาหารและกำลังจะอดตายจะไม่สนใจในเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเองและเรื่องอื่นใด

        อย่างไรก็ดี ความต้องการในลำดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่ความจำเป็นทางกายภาพ เป็นส่วนที่ประเมินได้ยากว่าเมื่อใด ในขนาดเท่าใด จึงจะถือว่าได้รับการตอบสนอง ดังนั้น ความต้องการในระดับสูงสูด คือ การบรรลุศักยภาพสูงสุดหรือการเข้าถึงความหมายของชีวิต จึงอาจมีได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองความต้องการในขั้นก่อนหน้าครบทุกประการหรืออย่างสมบูรณ์

        ซึ่งสอดคล้องกับการยืนยันของมาสโลว์ว่า ความต้องการของมนุษย์อาจได้รับการตอบสนองเพียงบางส่วนในแต่ละขณะเวลา

        ตัวอย่างของการไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการในทุกลำดับขั้นก่อนหน้า แต่บุคคลสามารถเข้าถึงความหมายของชีวิต ได้แก่

        มหาตมะ คานธี ผู้ไม่ย่อท้อที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมให้กับชาวอินเดีย ท่ามกลางความเสี่ยงและอันตรายต่ออิสรภาพและชีวิตของเขา

        เนลสัน แมนเดลา ผู้ถูกจำคุกเป็นเวลาถึง 27 ปี จากการต่อสู้กับความอยุติธรรมจากนโยบายการถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ โดยตลอดเวลาที่ถูกจำคุก เขายังคงยึดมั่นในความหมายของชีวิต

        วิคเตอร์ ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้ถูกกักขังในค่ายกักกันหลายแห่งของนาซีเป็นเวลา 3 ปี รอดชีวิตได้เพราะไม่ละทิ้งความเชื่อมั่นในความหมายและคุณค่าของชีวิต


ดังคำกล่าวของ ‘ฟรีดริช นีทเชอ’ ที่ว่า

“บุคคลที่ตระหนักว่าเขามีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งใด

อาจทานทนได้ต่อเกือบทุกสิ่งไม่ว่าจะอย่างไร”

 


“He who has a why to live for can bear almost any how.”

Friedrich Nietzsche
 


        แนวคิดในเรื่อง self-actualization เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะเติบโต (growth needs) และไม่ได้เป็นผลมาจากการขาดบางอย่างเหมือนความต้องการขั้นก่อนหน้าทั้ง 4 ขั้น (deficiency needs)

        มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะเติบโตได้เต็มศักยภาพของตนและสามารถเข้าถึงความหมายของชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำสำเร็จ เพราะชีวิตมีขึ้นมีลง และบางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทำให้เราไปไม่ถึงความต้องการขั้นสูงสุด โดยอาจพาถอยหลังกลับไปสู่ความต้องการลำดับล่างๆ เช่น การหย่าร้าง หรือการตกงาน เป็นต้น

        มาสโลว์ได้ระบุถึงคุณลักษณะของบุคคลผู้เข้าถึงความหมายของชีวิต (self-actualized person) ว่า เป็นผู้ที่ยอมรับตนเองและผู้อื่นอย่างที่เป็น รับรู้ความจริงอย่างเที่ยงตรง มีความคิดสร้างสรรค์ อดกลั้นต่อความไม่แน่นอน มุ่งที่การแก้ปัญหา ตื่นตัวในการคิดและการกระทำ ห่วงใยความผาสุกของมนุษยชาติ สามารถรู้สึกขอบคุณประสบการณ์ในชีวิต สามารถพึงพอใจกับการมีเพื่อนสนิทจริงๆ เพียง 2-3 คน มองชีวิตอย่างไม่มีอคติ (มองอย่างเป็นกลาง ไม่ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว) มีประสบการณ์ชีวิตที่สุดยอด (peak experiences) ต้องการความเป็นส่วนตัว มีทัศนคติที่เป็นประชาธิปไตย และมีมาตรฐานทางศีลธรรมจริยธรรมขั้นสูง

 
        ส่วนแนวพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเป็นผู้เข้าถึงความหมายของชีวิตนั้น รวมถึง

        1) เรียนรู้ชีวิตเหมือนเด็ก ด้วยการซึมซับประสบการณ์และด้วยการจดจ่อมีสมาธิ

        2) ลองสิ่งใหม่ และไม่ยึดติดเพียงหนทางที่ปลอดภัย

        3) รับฟังความรู้สึกของตนเองในการประเมินประสบการณ์ชีวิต มิใช่เพียงฟังเสียงของประเพณี ผู้มีอำนาจ หรือคนส่วนใหญ่

        4) เป็นคนซื่อตรง และหลีกเลี่ยงการเสแสร้ง

        5) พร้อมที่จะไม่เป็นที่นิยม หากความคิดเห็นไม่ตรงกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่

        6) รับผิดชอบและทำงานหนัก

        7) ตรวจสอบกลไกในการป้องกันตัวที่ตนเองใช้ และกล้าที่จะเลิกใช้มัน

 
        ทั้งนี้ มาสโลว์ไม่ได้นำ self-actualization ไปเทียบเท่ากับความสมบูรณ์แบบ (perfection) เพราะเขาเชื่อว่า “ไม่มีมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ” คุณลักษณะที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นลักษณะร่วมที่มักพบในกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงความหมายของชีวิต (self-actualized persons) จึงเป็นแนวทางที่บ่งบอกถึงแนวโน้มของการเป็นผู้ที่ self-actualized โดยอาจไม่ต้องมีคุณลักษณะทุกอย่างครบสมบูรณ์ทุกประการ
 
        อย่างไรก็ดี เราอาจนำความรู้เรื่องลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ไปใช้ประโยชน์กับตัวเองได้ โดยการระลึกถึงความหมายของชีวิตอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ลำดับขั้นใดของความต้องการ เพราะการมีความหมายของชีวิตอยู่ในใจเสมอ จะช่วยให้เรามีแรงกายแรงใจในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของชีวิต และมีโอกาสนำพาตัวเองไปสู่การบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดได้ ☺

 

รายการอ้างอิง

Stangroom, J. (2018). Psychology: 50 Ideas in 500 words (Rev. ed.). London: Elwin Street Productions Limited.

McLeod, S. A. (2018, May 21). Maslow's hierarchy of needs. Retrieved from https://www.simplypsychology.org/maslow.html

Chapter 10: Section 2: Maslow’s Hierarchy of Needs. Retrieved from https://allpsych.com/personalitysynopsis/maslows/

Olson, A. (2013, August 13). The Theory of Self-Actualization. Mental illness, creativity and art. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/au/blog/theory-and-psychopathology/201308/the-theory-self-actualization

Cherry, K. (Updated 2018, September 24). Major Schools of Thought in Psychology: A Closer Look at the Major Schools of Psychology. Retrieved from https://www.verywellmind.com/psychology-schools-of-thought-2795247
 
Finding Meaning in One’s Life. Retrieved from https://obdoc.blog/2018/11/11/finding-meaning-in-ones-life/
General-Psychology-stc:จิตวิทยาทั่วไป. สืบค้นจาก http://general-psychology-stu.blogspot.com/2015/02/blog-post_19.html

ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%8C

 
โดยทีมงาน Six Facets Press.

 

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy